“สรรพากร”รื้อรายการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา “เพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว-บุตรไม่จำกัดจำนวน” เริ่มใช้ปี′60

 

"สรรพากร"รื้อรายการบุคคลธรรมดา เริ่มใช้ปี′60 เล็งเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรแบบไม่จำกัดจำนวน จากเดิมให้แค่ 2 คน หนุนคนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวมากขึ้นจาก 6 หมื่นบาทต่อคน

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยถึงความคืบหน้าปรับปรุงรายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า กรมสรรพากรมีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ปัจจุบันมีรายการลดหย่อนกว่า 20 รายการ อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ค่าเลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูบิดามารดา ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ ค่าประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดอกเบี้ยบ้านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ค่าบริจาคต่างๆ ซึ่งรวมแล้วมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงที่กำลังทำนั้นจะปรับลดสิทธิประโยชน์บางตัว และปรับเพิ่มให้บางตัว เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวที่ปัจจุบันให้ 40% ของรายได้แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท/คน/ปี กรมกำลังพิจาณาว่าจะเพิ่มให้ ส่วนจะถึงระดับ 1.2 แสนบาท อย่างที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ กรมจะขอดูกระทบก่อนว่าแต่ละแนวทางนั้นจะ ทำให้รายได้ในการจัดเก็บภาษีลดลงเท่าใด

นอกจากนี้ กรมมีแนวคิดที่จะเพิ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับบุตร ที่ปัจจุบันให้แค่บุตร 2 คนคนละ 17,000 บาทสำหรับบุตรที่ศึกษาในประเทศ และ 15,000 บาท สำหรับบุตรที่ไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น ต่อไปจะให้แบบไม่จำกัดจำนวนบุตร และอาจจะเพิ่มวงเงินลดหย่อนให้เป็น 30,000 บาทต่อคน เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีลูกมากขึ้น เพราะขณะนี้ไทยกำลังก้าวสู่สังคมคนชรา

“ขณะนี้กรมกำลังประเมินว่าแต่ละแนวทางที่จะทำให้กรมสูญเสียรายได้เท่าใดประเมินเบื้องต้นน่าจะกระทบไม่ต่ำกว่า1 หมื่นล้าน โดยก่อนหน้านี้รายการลดหย่อนจะปรับเพิ่มตามนโยบายการเมือง อาทิ ในช่วงนี้สามารถนำรายจ่ายด้านท่องเที่ยว การบริจาคเพื่ออุกทกภัย มาลดหย่อนภาษี หรือก่อนหน้านี้สามารถลดหย่อนสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งกรมกำลังพิจารณาว่าทำอย่างไรไม่ให้เพิ่มขึ้นตามการเมือง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอไปยังฝ่ายนโยบาย เพื่อประกาศบังคับใช้ในปี 2560”นายประสงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะมีกำหนดลดหย่อนถึงปี 2559 นั้นกรมยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะต่ออายุให้หรือไม่ เพราะมองว่ายังมีเวลาในการพิจารณา แต่มีข้อเสนอแนะคือหากไม่มีแอลทีเอฟ ผู้เสียภาษียังสามารถไปใช้สิทธ์ในการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) แทนได้

โดย 2 รายการนี้ สามารถนำมาลดหย่อนได้รายการละ 15% ของรายได้พึงประเมิน และไม่เกินรายการละ 5 แสนบาท หรือรวมกัน 2 รายการสามารถใช้สิทธิ์ถึง 1 ล้านบาท ดังนั้นกำลังดูว่าหากให้เหลือรายการเดียวจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง หรือถ้ายังให้คงทั้ง 2 รายการจะมีการปรับเพิ่มเงื่อนไขอย่างไรบ้างโดยเฉพาะกรณีให้ถือหน่วยลงทุนแอลทีเอฟ 5 ปีปฏิทินนั้นควรจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะขณะนี้ถือแค่ 3 ปี 2 วันสามารถขายได้แล้ว หากซื้อแอลทีเอฟวันสุดท้ายของปีแรก และขายวันแรกของปีที่ 5

 

ที่มา: www.sanook.com

Visitors: 797,468